พระบรมราโชวาท ในโอกาสที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในต่างประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศเข้าเฝ้า ฯ ในโอกาสที่กระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลก
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2566

     “ข้าพเจ้ามีความยินดี ปลื้มปีติที่ได้ต้อนรับท่านทั้งหลาย ผู้ซึ่งเป็นผู้แทนของประเทศ ผู้แทนของรัฐบาล ผู้แทนของประชาชนชาวไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ.
เป็นสิ่งที่ดีมากที่กระทรวงได้จัดให้มีการประชุมพบปะสัมมนา ในระหว่างผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศ ดังที่ได้พูดไปแล้ว ซึ่งได้โอกาส ที่ท่านทั้งหลายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานข้อมูลสถานการณ์ ตลอดจนข้อสังเกตของแต่ละคน ให้เพื่อนร่วมงานหรือ colleague ของท่านได้ฟัง ตลอดจนก็น่าจะได้ข้อยุติหรือข้อตกลงใจ หรือข้อสรุปในหลาย ๆ อย่างที่นำมาพูดกัน เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศชาติได้ดีขึ้นและทันท่วงที ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติของเราไว้.


     ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์ของโลก ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ในแต่ละทวีป แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ แต่ละกลุ่ม ซึ่งในโลกนี้เขามีหลายกลุ่ม ก็มีจุดยืนของแต่ละกลุ่ม แต่ละประเทศ แต่ละฝ่าย. อย่างที่ท่านทั้งหลายได้คุยกันว่าจะพูดกันถึงเรื่องโลกแบ่งขั้ว. ขั้วนี่มีมานานแล้ว ทั้งนอกประเทศและในประเทศ มันก็มีขั้วมีความคิดที่แตกต่างกันไป ตามผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของประเทศ. อันประเทศไทยของเรานั้น ท่านทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่า เราเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ และมีจุดยืน. จุดยืนต่าง ๆ ก็เปลี่ยน พัฒนากันมาตามยุคสมัย. แต่จุดยืนนั้น ก็มาจากวัฒนธรรม มาจากค่านิยมของประเทศไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์ของตนเอง. จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์ หลาย ๆ อย่าง เอกลักษณ์ ค่านิยมของประเทศไทย ในความภูมิใจในความเป็นคนไทย ในการรักประเทศชาติ เสียสละต่อประเทศชาติ และหวังดีที่จะพัฒนาประเทศ ก็มีมานานแล้วทุกยุคทุกสมัย. ประเทศเราอย่างที่บอกแล้ว ก็มีจุดยืน. เพราะฉะนั้น สถานการณ์ หรือจุดยืนต่าง ๆ ของโลกซึ่งวุ่นวาย เปลี่ยนแปลงไปมา เป็นขั้วเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็มีอยู่ ช่วยไม่ได้. แต่ถ้าเรานึกถึงจุดยืน วัฒนธรรม ค่านิยม ผลประโยชน์กับของประเทศเรา มันก็จะเป็นจุดเรียกว่าจุดยืนของเราเอง ที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในการรักษาพระราชไมตรี หรือป้องกันผลประโยชน์และประชาชนของเรา. อย่างที่เน้น พูดแล้วว่า สถานการณ์ของแต่ละประเทศก็สอดคล้อง หรือต้องเอาสถานการณ์ จุดยืนของเรา มาปรับให้ถูกต้อง จะได้ปฏิบัติการให้ถูกต้อง. เราต้องรักษาทั้งไมตรี มิตรไมตรี แต่เราก็ต้องรู้เขา จะได้รับมือได้. และการที่จะรู้เขาได้อย่างดีก็คือ ต้องรู้เรา...”

 

พระบรมราโชวาท
ในโอกาสที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในต่างประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศเข้าเฝ้า ฯ ในโอกาสที่กระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลก
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2566