บึงสีไฟ บึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับจังหวัดพิจิตรมาช้านาน เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของบึงสีไฟในอดีต มีหลักฐานจากสมัยพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงเห็นว่าจังหวัดพิจิตรเป็นพื้นที่ลุ่มเต็มไปด้วยห้วยหนองคลองบึง โดยเฉพาะบึงสีไฟที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี จึงทรงเรียกเมืองพิจิตรว่าโอฆะบุรีที่แปลว่าห้วงน้ำ อาณาบริเวณของบึงสีไฟครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่
ปัจจุบันมีพื้นที่ 5,390 ไร่ จัดเป็นบึงที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ โดยมีพื้นที่ติดต่อ 5 ตำบลได้แก่ ตำบลในเมือง ตำบลท่าหลวง ตำบลเมืองเก่าตำบลโรงช้าง และตำบลคลองคเชนทร์ บึงสีไฟ ยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจและแหล่งรายได้จากการทำประมง ทำสวนบัว และการค้าขาย
เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2554 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้มีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดพิจิตรและได้ทอดพระเนตรบึงสีไฟเป็นการส่วนพระองค์
ปีพุทธศักราช 2555 จังหวัดพิจิตร ร่วมกับ กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่บริเวณบึงสีไฟและพบปัญหาดังนี้ ปัญหาผักตบชวาที่เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว กีดขวางทางเดินของน้ำ มีขยะในบึงที่ทำให้เกิดทัศนียภาพไม่สวยงาม แหล่งน้ำมีความตื้นเขิน ทำให้พันธุ์ปลา สัตว์น้ำที่เคยมีหายไป เกิดปัญหาเรื่องการทิ้งดินจากการขุดลอก เนื่องจากไม่มีการวางแผนร่วมกัน
ปีพุทธศักราช 2556 บึงสีไฟได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ฝนที่ทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้น้ำในบึงแห้งขอด
ปีพุทธศักราช 2560 เกิดไฟไหม้บริเวณเกาะกลางบึงสีไฟ เนื่องจากมีวัชพืชแห้งทับถมกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ เริ่มจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำนำร่อง คือ โครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โครงการขุดท่อลอกถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมบนถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการพัฒนาคลองแม่ข่าที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาระหว่างหน่วยราชการในพระองค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนจิตอาสาพระราชทาน
ในปีพุทธศักราช 2560 หน่วยราชการในพระองค์ได้น้อมนำพระบรมราโชบายในการปรับปรุงพัฒนาบึงสีไฟและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟให้กลับมาสมบูรณ์งดงามดังเดิม โดยวางแผนการบริหารงานดังนี้
- ด้านการบริหารจัดการดิน กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกบึงสีไฟระหว่างปีงบประมาณ 2560 ถึงปีงบประมาณ 2563
- ด้านการบริหารจัดการน้ำ แต่เดิมบึงสีไฟรับน้ำจากน้ำฝนและการผันน้ำจากระบบชลประทาน เข้ามาเติมในช่วงหน้าแล้ง ในการพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟ กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานพิจิตร ได้ผันน้ำ ผ่านคลองชลประทานอาศัยน้ำจากทางเหนือที่ไหลมาจากเขื่อนนเรศวร
- ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวน สมเด็จพระศรีนครินทร์พิจิตรและการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบบึงสีไฟ รวมทั้งมีการสร้างทางจากดินที่ขุดลอก มาทำเป็นทางจักรยาน ทางเดิน และลู่วิ่ง โดยสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การพัฒนาอุทยานบัวบึงสีไฟโดยขยายพันธุ์บัวหลากหลายสายพันธุ์ จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดสร้างสถานเพราะพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้บึงสีไฟเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ รวมทั้งยังมีการปลูกป่าในบริเวณพื้นที่เกาะกลางบึงที่เคยถูกไฟไหม้ให้กลับมาเขียวชอุ่มดังเดิม
แหล่งน้ำสำคัญคู่เมืองพิจิตรซึ่งทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นทั้งแหล่งอาชีพเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และประกอบกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ อันทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น