ทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์
พระมหากรุณาธิคุณปกแผ่ทั่วถิ่นทุรกันดารทั้งแผ่นดิน
พระราชวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบองค์รวมและรอบคอบในการทรงงาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานในการวางแผนพัฒนาเพื่อช่วยเหลือราษฎร ทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาดิน การพัฒนาป่าไม้ การพัฒนาอาชีพ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการพัฒนาหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณหนองอึ่งด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือราษฎร โดยให้ปรับปรุงขุดลอกหนองอึ่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่และสภาพดินโดยรอบหนองอึ่ง ปลูกหญ้าแฝกและต้นไม้เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน พร้อมกับให้ฟื้นฟูสภาพป่าโดยรวม เพื่อให้คนกับป่าอยู่อย่างเกื้อกูลกัน (พระราชดำริเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 ณ หนองอี่ง บ้านท่าเยี่ยม ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร)
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ณ บ้านผไทรวมพล อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนทั้งด้านแหล่งน้ำ ด้านการเกษตร ด้านอาชีพ ในพื้นที่หมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาชายแดน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านศรีทายาท บ้านราษฎร์รักแดน บ้านแท่นทัพไทย และบ้านผไทรวมพล (พระราชดำริเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2545 ณ บ้านผไทรวมพล หมู่ 10 ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์)
นอกจากนี้ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาพัฒนาแหล่งน้ำที่มีสภาพตื้นเขินให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวมทั้งพิจารณาช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ (พระราชดำริเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2546 ณ บ้านรุ่งอรุณและบ้านกระหวัน ตำบลโนนสำราญ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ) เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านรุ่งอรุณและบ้านกระหวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านกระหวัน ตำบลโนนสำราญ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีการพัฒนาขุดลอกแหล่งน้ำ ควบคู่กับการฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์ปีก ทำให้ราษฎรในอำเภอกันทรลักษ์ ได้รับการส่งเสริมอาชีพ ราษฎรที่อยู่ห่างไกลสามารถประกอบอาชีพ เป็นการเพิ่มรายได้ และเพิ่มปริมาณผลผลิตอาหารโปรตีนภายในชุมชนให้มากขึ้น และโรงเรียนบ้านท่าสว่าง โรงเรียนบ้านรุ่งอรุณ และบ้านท่าสว่างสาขากระหวัน ตำบลโนนสำราญ ได้รับการส่งเสริมการทำเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นการลดปัญหาภาวะการณ์ขาดสารอาหารของนักเรียน ตลอดจนช่วยให้นักเรียนมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์เหมาะสมกับช่วงอายุ และมีสุขภาพแข็งแรง
ที่มาข้อมูล : หนังสือทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์
โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)