''

 

30 พฤษภาคม 2457
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”

     เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ และพระราชทรัพย์แก่สภากาชาดสยาม พร้อมกันนั้น พระราชภาดา พระราชภคินี ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล สมทบกับเงินทุนเดิมของสภากาชาดสยาม เพื่อสร้างโรงพยาบาลถาวร สำหรับเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง แต่เมื่อการจัดสร้างโรงพยาบาลใกล้สำเร็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ก็สิ้นพระชนม์ลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงรับดำเนินการต่อจนสำเร็จ

    เมื่อก่อสร้างโรงพยาบาลแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๗ ในโอกาสนี้ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ได้แก่ “ตึกที่ว่าการ” ทอดพระเนตรห้องทำการของเจ้าหน้าที่ ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องตรวจโรค ห้องเรียนสำหรับใช้สอนนายแพทย์ ห้องตรวจคนไข้ และห้องจ่ายยา “ตึกที่ทำการผ่าตัด” ทอดพระเนตรห้องผ่าตัด ห้องเอกซเรย์ ห้องเครื่องมือพิเศษต่างๆ และ “ตึกที่พักผู้ป่วย” ทอดพระเนตรที่พักสำหรับผู้ป่วย

  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัส อันแสดงให้เห็นถึงพระราชกตัญญุตาธรรม และพระราชหฤทัยที่ทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน ความตอนหนึ่งว่า

     “...อนึ่งในการบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น ย่อมต้องระลึกดูว่าจะทำการอย่างใด จึงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย คือถ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เราและพี่น้องจะฉลองพระเดชพระคุณได้ในทางใด หรือถึงแม้เสด็จสวรรคตล่วงลับไปแล้ว ถ้ามีวิธีใดที่จะทำให้ทราบถึงพระองค์ได้นั้น การอย่างใดจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อระลึกดูดังนี้ก็เห็นได้ว่า ตลอดเวลารัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ย่อมพอพระราชหฤทัยในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ทรงปกครอง สิ่งไรทำขึ้นให้นำมาซึ่งความสุขความสำราญแก่ประชาชน สิ่งนั้นย่อมพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก เพราะพระองค์กอปรไปด้วยพระเมตตาคุณอย่างอุกฤษฏ์ จึงตกลงกันว่าถ้าทำโรงพยาบาลขึ้นเป็นราชานุสาวรีย์ คงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นแน่แท้...

    ...หวังใจว่าโรงพยาบาลนี้ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความคิดความปรารถนาของเราพี่น้องด้วยกัน คงจะได้ทำการเป็นคุณเป็นประโยชน์ สมความมุ่งหมาย และสมความศรัทธาของพวกเราทั้งหลายที่เป็นผู้ลงทุน ทั้งหวังใจว่าจะเป็นการแผ่เกียรติยศเกียรติคุณของกรุงสยาม ว่าในกาละบัดนี้เราไม่น้อยหน้าผู้ใด

      ...สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็เท่ากับเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง เพราะถ้าผู้ที่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความสุขแล้ว ก็เหมือนตัวเราได้รับความสบาย...”