''

 

2 กรกฎาคม 2476
ศาลาเฉลิมกรุง
เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรก

     เมื่อจะมีการฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี พ.ศ. 2475 ได้มีการประชุมหารือกันในคณะรัฐบาลเพื่อจัดสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถอำนวยสาธารณประโยชน์ เป็นที่ระลึกแห่งการเฉลิมฉลอง ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้จัดสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมกรุงเทพมหานครกับกรุงธนบุรี ให้มีความเจริญพัฒนาทัดเทียมกัน พร้อมทั้งได้สร้างพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนครด้วย เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระผู้ทรงประดิษฐานกรุงเทพมหานคร และพระบรมราชวงศ์จักรี           

   ในโอกาสเดียวกันนั้น จากแนวพระราชดำริที่ทรงเห็นว่าสิ่งบันเทิงที่เฟื่องฟูมากที่สุดในโลกยุคนั้นก็คือ “ภาพยนตร์” และแม้ว่าในเวลานั้นได้มีการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นอย่างแพร่หลายแล้วในกรุงเทพมหานคร และทุกหัวเมืองก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีโรงภาพยนตร์ที่มีลักษณะสวยงามภูมิฐานเป็นสง่าราศีแก่เมืองได้ ประกอบกับความที่ทรงรอบรู้และเป็นนักนิยมภาพยนตร์ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์สำหรับฉายภาพยนตร์เสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังมีลักษณะภูมิฐานเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศได้ ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ได้พระราชทานนามของโรงมหรสพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”

   ศาลาเฉลิมกรุง จัดฉายภาพยนตร์ชั้นดี โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างชาติเสียงในฟิล์ม ได้เปิดฉายภาพยนตร์ เรื่อง “มหาภัยใต้ทะเล” เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476 ครั้นต่อมาถึงยุคที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเสมือนหนึ่งศูนย์กลางของวงการบันเทิงอย่างแท้จริง จนนับว่าเป็นฮอลลีวูดเมืองไทยก็ว่าได้ เป็นศูนย์รวมของแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นศูนย์รวมของผู้คนในวงการภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่ผู้สร้าง ผู้กำกับ ดารา ตัวประกอบ ทีมงาน นักพากย์ นักร้อง ช่างเขียนโปสเตอร์ ฯลฯ และเป็นสถาบันในการผลิตบุคลากรทางด้านการภาพยนตร์และละครของไทย ศาลาเฉลิมกรุงเป็นเหมือนประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จของบุคคลในสายอาชีพนี้ ตลอดไปจนถึงบริษัทฉายหนังต่างๆ ที่มีกิจการอยู่ในละแวกด้านหลังศาลาเฉลิมกรุง

   ศาลาเฉลิมกรุง ถือว่าเป็นส่วนสำคัญและส่งเสริมให้พื้นที่โดยรอบพัฒนาตัวเองขึ้น จากการเป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญ สู่ความรุ่งเรืองในระดับที่เป็นศูนย์กลางความเจริญและความทันสมัยของยุคนั้น จากเสาชิงช้าลงไปถึงริมน้ำเจ้าพระยาและระเรื่อยตลอดสองฝั่งถนนเจริญกรุงไปจนถึงสำเพ็งและตลาดน้อย กลายเป็นแหล่งธุรกิจนานาชนิด ความชื่นชมของประชาชนที่มีต่อศาลาเฉลิมกรุง ไม่ได้มีแต่เพียงในระยะแรกเริ่มเท่านั้น หากยังดำรงต่อมาอีกเนิ่นนานนับเป็นสิบๆ ปี ศาลาเฉลิมกรุงถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย จนเป็นประเพณีนิยมว่าคนหนุ่มสาวสมัยนั้นที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องมาใช้ชีวิตส่วนหนึ่งสัมผัสกับบรรยากาศของย่านนี้ ขนาดที่ว่าใครไม่รู้จักศาลาเฉลิมกรุงถือว่า “เชย” ที่สุดทีเดียว