''

 

23 กันยายน 2445
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดรับแลกเปลี่ยนธนบัตรแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ
“ธนบัตร” ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม

   แรกเริ่มก่อนที่จะมีการใช้ธนบัตรนั้น ไทยได้มีการออกใช้เงินกระดาษมาก่อนแล้ว เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้ากับชาติตะวันตกทำให้ความต้องการเงินตราภายในสยามเกินกำลังการผลิต เกิดความขาดแคลนเงินที่ผลิตจากโลหะจึงมีการออกเงินกระดาษ เรียกว่า หมาย ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อใช้ร่วมกันกับเหรียญโลหะแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากคนทั่วไปยังคุ้นเคยกับการใช้เงินโลหะอยู่ ต่อมาเมื่อมีธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ และธนาคารแห่งอินโดจีนได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้เป็นตั๋วสัญญาในการชำระหนี้ในวงแคบระหว่างธนาคารและลูกค้าในช่วง พ.ศ. 2432 – 2445 โดยมีการเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ตหรือแบงก์ ซึ่งสร้างความเคยชินและเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังจนติดปากถึงทุกวันนี้ว่า แบงก์

    จนกระทั่ง พ.ศ. 2445  จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445 จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา

    ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์