พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อความสุขของประชาชน

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงรับอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325มื่อทรงราชย์แล้วได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อวางรากฐานบ้านเมืองทั้งด้านอาณาจักรและศาสนจักร ทรงกระทำศึกสงครามป้องกันภัยจากอริราชศัตรู ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหลักฝ่ายพุทธจักร และทรงปฏิรูปชำระแบบแผนกฎหมายของบ้านเมืองที่เรียกกันว่ากฎหมายตราสามดวงให้เป็นหลักฝ่ายอาณาจักร ฯลฯ เป็นพระราชคุณูปการอันยิ่งใหญ่พ้นจะพรรณนา

พระราชปณิธานในรัชกาลที่ 1 ปรากฏชัดในพระราชนิพนธ์ เรื่องนิราศท่าดินแดง ว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก             ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา        รักษาประชาชนแลมนตรี”

     ทรงพระอุตสาหวิริยะอย่างยิ่งยวดในการปกป้องอาณาประชาราษฎร ในขณะเดียวกันก็ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระราชหฤทัยกรุณาอ่อนโยนต่อทวยหาญ ดังความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปในการศึก ว่า

     “...ฝ่ายทัพหลวงก็เสด็จขึ้นข้ามเขาสูงหนุนไป และเขานั้นชันนัก จะทรงช้างพระที่นั่งขึ้นมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ดำรัสให้ผูกราว แล้วต้องทรงทรมานพระกายเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทยึดราวขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขา จนเที่ยงจึงถึงยอดเขา และช้างซึ่งขึ้นเขานั้นต้องเอางวงยึดต้นไม้จึงเหนี่ยวกายขึ้นไปด้วยความลำบากนัก ช้างที่พลาดพลัดตกเขาลงมาตายทั้งคนทั้งช้างก็มีบ้าง จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยากพาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก”

     พระองค์ทรงสั่งสอนขุนนางและราษฎรให้ดำเนินชีวิตตามคลองธรรม ตั้งมั่นในความดีงาม ละอบายมุขต่างๆ ดังปรากฎพระราชกำหนดใหม่ในกฎหมายตราสามดวง ว่า

     "แลให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบถเป็นนิจวินัยศีล ครั้นถึงวาระวัน 8 ค่ำ วัน 14 ค่ำ วัน 15 ค่ำ ให้รักษาพระอุโบสถศีลแปด ศีลสิบประการเป็นอดิเรกศีล ชวนกันทำบุญให้ทาน สดับพระธรรมเทศนา จำเริญธรรมภาวนา ให้เป็นอาริยอุโบสถจำเริญอานิสงส์ขึ้นไป

     แลให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนข้างหน้าข้างใน ผู้รักษาเมืองรั้งกรมการอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงปรนนิบัติกระทำตามพระราชโอวาทานุสาสนะ กำหนดกฎหมายนี้จงทุกประการ"

     และความอีกตอนหนึ่งว่า "ทุกวันนี้ตั้งพระทัยแต่ที่จะทำนุบำรุงวรพระพุทธศาสนาไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้ง ๔ ดำรงจิตจัตุรัสบำเพ็ญศีลทาน จะได้สุคติภูมิมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นประโยชน์แก่ตน"

 

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ 6 เมษายน 2561
สืบสานพระราชปณิธาน "ธรรมราชินี"