น้อมนำศาสตร์พระราชา ลดภัยแล้ง สร้างสมดุล สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะส่งเสริมให้ประเทศชาติและประชาชน มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมส่วนรวมอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ผ่านการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาคีเครือข่าย
โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว
ตั้งอยู่บนพื้นที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โครงการนี้เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตำบลพรหมนิมิต และตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการในการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งดินขาว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปูนซีเมนต์ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้มาทำการขุดและขนส่งลำเลียงผ่านทางรถไฟส่งต่อไปยังโรงงานบางซื่อ และได้เลิกทำการขุดไปเมื่อปี พ.ศ. 2459 พื้นที่บ่อดินขาวจึงกลายเป็นแอ่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีประชาชนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบ สระบ่อดินขาวจึงกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และอาคารที่อยู่อาศัย ตลอดจนการถมดินเพื่อทำสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้เส้นทางน้ำที่เคยไหลตามธรรมชาติถูกปิดกั้น ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำที่ไหลไม่เข้าสระ น้ำในสระบ่อดินขาวจึงมีปริมาณลดลง ไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภค และทำการเกษตร ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง การพัฒนาสระบ่อดินขาว เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ในพื้นที่ตำบลพรหมนิมิต และตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ การพัฒนาครอบคลุมพื้นที่กว่า 766-0-75 ไร่ โดยมีสระบ่อดินขาวเป็นศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบด้วยส่วนงานสำคัญ ได้แก่
1.การพัฒนาและบำรุงรักษาแหล่งน้ำ : ดำเนินการขุดลอกสระบ่อดินขาว และการปรับปรุงลำรางส่งน้ำ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ รองรับการกักเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง
2.การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ : มุ่งเน้นการเติมน้ำเข้าสู่สระบ่อดินขาวด้วยการหาน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อนำมากักเก็บไว้ในสระ สำรองไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์หรือให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
3.การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ : การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสระบ่อดินขาว รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยการน้อมนำแนวคิดเกษตรผสมผสานมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตน
ผสานประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม…
ผสานประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม… ด้วยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีการประสานประโยชน์ร่วมกัน ในการดำเนินงานแบบบูรณาการ เพื่อให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสระบ่อดินขาวให้เกิดเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสานมาปรับใช้ สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว มีแนวทางการพัฒนาสระบ่อดินขาว ประกอบด้วย 4 ส่วนงานสำคัญ ได้แก่
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขาวงและพื้นที่แอ่งน้ำขังหนองกะทะ
- ฟื้นฟูป่า สร้างฝายชะลอน้ำ พื้นที่รับน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำ
- ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
- สร้างระบบสำรองน้ำ และระบบทางน้ำเข้าจากพื้นที่รับน้ำเขาวง
- ผันน้ำเข้าสู่สระบ่อดินขาวผ่านท่อลอดใต้ทางรถไฟ
2. พัฒนาแปลงเกษตรผสมผสานในพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์โดยประชาชนมีส่วนร่วม
- เชื่อมต่อแหล่งน้ำจากร่องน้ำข้างถนนเข้าสู่ทางทิศเหนือของแปลงที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ
- พัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิง ทำคลองไส้ไก่ เสริมระบบสำรองน้ำ บ่อหน่วงน้ำ
- ใช้ระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์
- ระบบถังสำรองน้ำพร้อมจ่าย
3. ฟื้นฟูทางน้ำที่เชื่อมกับคลองชัยนาท
-ป่าสัก โดยใช้พลังงานทดแทนจากโซล่าเซลล์ เพื่อระบายน้ำลงคลอง
-ปรับระดับขุดลอกทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้สามารถจ่ายน้ำสู่พื้นที่การเกษตร
-จัดรูปที่ดิน (เป็นทางระบายน้ำล้นจากสระบ่อดินขาว) - จัดการน้ำในแปลงเกษตรผสมผสาน
4. พัฒนาพื้นที่รอบสระบ่อดินขาวอย่างเป็นระบบ
- ปรับระดับขุดลอกทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้สามารถจ่ายน้ำสู่พื้นที่การเกษตร
- จัดรูปที่ดิน (เป็นทางระบายน้ำล้นจากสระบ่อดินขาว)
- จัดการน้ำในแปลงเกษตรผสมผสาน
- ปลูกไม้ท้องถิ่น ไม้กินได้รอบสระบ่อดินขาว ปลูกพืชคลุมดินป้องกันการพังทลายของตลิ่งและปรับปรุงดิน รวมทั้งการพัฒนาเป็นลานกิจกรรมของชุมชน
แก้ไขปัญหาและพัฒนา การดำเนินงานแบบคู่ขนาน…
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากการร่วมแรงร่วมใจของทั้งเหล่าจิตอาสาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่อำเภอตาคลี ร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสระบ่อดินขาวให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างความสามัคคี และปลูกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนในพื้นที่
สุขสมดุล...โดยชุมชน เพื่อชุมชน
การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสระบ่อดินขาว ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งการบริหารจัดการป่าต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาวในระยะยาวนั้น จะเป็นแหล่งเรียนรู้การทำการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้ง ยังเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนเพื่อชุมชน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันกันอย่างพอดี พอเพียง และพอเหมาะ เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน ก่อให้เกิดความสำนึกรักและหวงแหนท้องถิ่นของตน เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการตนเองเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความสุขอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบไป