1 เมษายน 2448
วันเลิกทาส
ทาส คือ สถานภาพทางสังคมที่ปรากฏในวิถีชีวิตของคนในอดีต มีอยู่ในชาติต่างๆ ทั่วโลก ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าไทยมีทาสหนึ่งในสามของจำนวนประชากรทั้งหมด พ่อแม่เป็นทาสลูกก็จะเป็นทาส และหากไม่สามารถนำเงินมาไถ่ถอนตนเอง จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเลิกทาส แต่ด้วยทรงตระหนักดีว่าการแก้ไขสิ่งที่ทำกันมาจนเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต จะต้องอาศัยขั้นตอน วิธีการ และเวลา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไท” เมื่อพุทธศักราช 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ให้ลดค่าตัวลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนหมดเมื่ออายุ 20 ปี ห้ามซื้อขายบุคคลที่มีอายุเกิน 20 ปี เป็นทาสอีก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกพระราชบัญญัติให้ทาสในมณฑลต่างๆ มีโอกาสไถ่ถอนตัวเองได้ง่ายขึ้น ต่อมามีพระบรมราชโองการประกาศ “พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทรศก 124” ให้ทาสในเรือนเบี้ยทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2448 ยุติระบบทาสในไทย โดยไม่เสียเลือดเนื้อเหมือนในประเทศอื่น