17 มกราคม 2376
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช
ทรงค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ในปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช 1195 ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ขณะที่ยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎและยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ก่อนเสวยราชสมบัติได้เสด็จประพาสเมืองเหนือ นมัสการเจดียสถานต่างไปตามลำดับ ในวันขึ้นเจ็ดค่ำได้เดินทางไปถึงเมืองสุโขทัยในเวลาเย็น ประทับอยู่ที่นั่นสองวัน ได้เสด็จเที่ยวประพาสพบแท่นศิลาแห่งหนึ่ง เขาก่อไว้อยู่ริมเนินปราสาท เป็นแท่นแต่หักพังลงมาตะแคงอยู่ที่นั้น ชาวเมืองเคารพเป็นที่นับถือกลัวเกรงของมหาชน ได้นับถือสำคัญเป็นศาลเจ้า เขาจัดให้มีมวยสมโภชทุกปี ทอดพระเนตรเห็นแล้วเสด็จตรงเข้าไปประทับ ณ แท่นศิลานั้นก็มิได้เป็นอันตรายสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยอำนาจพระบารมี เมื่อเสด็จกลับรับสั่งให้ชะลอลงมาจารึกอักษรเขมรเสาหนึ่งและอักษรไทยโบราณเสาหนึ่ง เอามาก่อเป็นแท่นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดราชาธิวาส หรือ วัดสมอรายซึ่งเรียกกันในขณะนั้น
ครั้นภายหลังได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ดำรัสสั่งให้นำไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แท่นศิลาที่ทรงโปรดชะลอลงมานั้น คือ พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ และศิลาจารึกอักษรไทยโบราณก็คือศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ได้ทรงจารึกพระราชประวัติและเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเมืองสุโขทัย และจารึกด้วยตัวอักษรไทยที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้น ศิลาจารึกอักษรเขมรอีกหลักหนึ่งนั้นเป็นศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย