19 พฤษภาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนคำว่าเมือง เรียกว่า “จังหวัด”

''

 

19 พฤษภาคม 2459
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนคำว่าเมือง เรียกว่า “จังหวัด”

     แต่เดิม การปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แบ่งหัวเมืองออกเป็น เมืองเอก โท ตรี และจัตวา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ โดยแบ่งเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมมณฑลที่อยู่ใกล้กันจัดตั้งเป็น “ภาค” มีอุปราชเป็นผู้กำกับราชการ

    นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” มาใช้เป็นคำว่า “จังหวัด” ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2459 ความตอนหนึ่งว่า

    “...แต่ท้องที่ๆ เรียกว่าเมืองอันเปนส่วนหนึ่งของมณฑลนั้น ในบัดนี้คงเรียกว่า เมืองบ้าง จังหวัดบ้าง สับสนกันอยู่ เพื่อแก้ไขให้เปนระเบียบอันเดียวกัน สำหรับความเข้าใจง่ายในการปกครอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เปลี่ยนคำว่า เมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด...”

       ทั้งนี้ คำว่า “เมือง” ยังคงให้ใช้เป็นคำเรียกตำบลที่ประชาชนเคยเรียกมานานแล้วว่าเมือง โดยให้จำกัดเพียงตำบลที่เคยเรียกว่าเมืองมาแต่เดิมเท่านั้น ส่วนอำเภอ เช่น เมืองพิษณุโลก หมายความว่าตำบลที่อยู่ภายในกำแพงเมือง หรือติดต่อกับกำแพงเมืองเท่านั้น ส่วนตำบลอื่นๆ ที่ไม่ได้มีหมู่บ้านติดต่อกับตำบลเมืองพิษณุโลก ถึงแม้จะอยู่ภายในเขตอำเภอพิษณุโลก ก็ไม่ให้เรียกว่าเมืองพิษณุโลก แต่ให้เรียกตามนามของตำบลเดิม ส่วนอำเภอ ทั้งที่เคยได้เรียกว่าอำเภอเมืองอยู่เดิม และอำเภออื่นๆ ให้ใช้ตามนามตำบลทั้งสิ้น เช่น อำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นต้น

     การเปลี่ยนคำเรียกคำว่า “เมือง” มาใช้เป็นคำว่า “จังหวัด” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นประโยชน์ต่อการปกครองส่วนภูมิภาคของไทย เพราะทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับระเบียบการใช้คำเรียก “จังหวัด” ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีพระราชประสงค์จะทรงวางรากฐานให้พลเมืองรู้จักบริหารจัดการปกครองดูแลตนเองในเขตจังหวัดของตนๆ อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ทรงคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องเกิดมีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ คำว่า “จังหวัด” ก็ยังคงมีการใช้สืบมาถึงปัจจุบัน