21 กรกฎาคม 2461
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างดุสิตธานี : เมืองจำลองแห่งประชาธิปไตย
ดุสิตธานี เป็นชื่อของเมืองจำลองแห่งประชาธิปไตยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2461 เพื่อเป็นแบบทดลองของการปกครองแบบประชาธิปไตย รูปแบบดัดแปลงมาจากธรรมนูญการปกครองเทศบาลของอังกฤษ โดยพระองค์และข้าราชบริพารทดลองเป็นพลเมืองของดุสิตธานีด้วยตนเอง มีการจัดการเลือกตั้ง ประชุมสภา มีการจัดเก็บภาษี ออกหนังสือพิมพ์ แม้ว่าปัจจุบันนี้จะคงเหลือเพียงอาคารจำลองไม่กี่หลังที่หอวชิราวุธานุสรณ์ แต่ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามสร้างวิถีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
ความสนพระราชหฤทัยเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งนี้เพราะได้ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นแม่บทของการปกครองระบอบนี้ ได้ทรงเห็นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ที่มีการปกครองระบอบดังกล่าว ได้ทรงลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง โดยทรงจัดตั้ง The New Republic ที่กรุงปารีส และเมืองมัง ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา (เดิม) ที่กรุงเทพมหานคร ในระหว่างที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องจากทรงมีพระราชกิจอย่างอื่นมากการทดลองของพระองค์จึงระงับไป แต่ได้ทรงรื้อฟื้นขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2461 ทรงวางผังเมืองสมมติเพื่อทดลองการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจับจองที่ดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2461 ได้พระราชทานชื่อเมืองสมมตินั้นว่า “ดุสิตธานี”
เมื่อเริ่มสร้างเมืองสมมติดุสิตธานีนั้น ได้ทรงสร้างไว้ที่พระราชวังดุสิต มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ รอบพระที่นั่งอุดรภาค พระที่นั่งอุดรภาคนั้นมีทางเดินติดต่อกับพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งอยู่ตรงออกไปทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมวางผังเมืองและให้จับจองที่ดินแล้ว ก็เริ่มมีการสร้างบ้านเรือน ตัดถนนหนทาง สร้างวัดวาอาราม ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล โรงอาหาร ตลอดจนพระราชวัง อาคารสถานที่ในเมืองจำลองดุสิตธานีนั้นสร้างย่อส่วนในสัดส่วน 1 ใน 20 ส่วนของขนาดจริงถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีตบรรจง ตกแต่งสีสวยงามและฉลุสลักลวดลายวิจิตรคล้ายของจริง จัดภูมิทัศน์ในบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมให้มีไฟฟ้าติดสว่างทุกบ้าน สร้างถนนภายในเมืองและปลูกต้นไม้ย่อส่วนให้ดูร่มรื่นราวกับเป็นเมืองจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายภาพยนตร์ ในด้านโยธาธิการถือว่าดุสิตธานีมีความก้าวหน้ามาก ดังจะเห็นได้ว่า มีหอนาฬิกาสูงตระหง่านที่อำเภอดุสิตและที่อำเภอเขาหลวง มีทางส่งน้ำจากเขาหลวงในระดับสูงข้ามลำคลองไปที่ทำการประปา และมีสะพานลอยข้ามทั้งลำคลองและทางส่งน้ำนั้นด้วย
เมืองดุสิตธานีจึงเปรียบเสมือนเป็นศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยที่จะสร้างประชาธิปไตยไว้เป็นหลักการปกครองของชาติในวันหน้า และทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสสมควร