22 มีนาคม 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456”

''

 

22 มีนาคม 2455
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน
“พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456”

        ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นประเทศสยามยังไม่มีการใช้นามสกุล มีเพียงชื่อที่บิดามารดา หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือตั้งให้ การจะรู้ว่าใครเป็นใครจึงต้องจำแนกจากรูปลักษณ์ หรือต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครและตั้งบ้านเรือนที่ใด ดังเรียกกันว่า “ฉายา”

        การไม่มีชื่อสกุลประจำตระกูลนี้ เป็นเหตุให้เกิดความขัดข้องยุ่งยากต่าง ๆ นานัปการไม่ว่าทางราชการหรือทางส่วนตัว หรือในการปกครองบ้านเมืองก็ดี ในระหว่างสังคมมนุษย์ย่อมสับสนอลเวงเป็นอันมาก ถ้าญาติผู้น้อยไม่รู้จักญาติผู้ใหญ่ ใครอาวุโสทางศักดิ์ญาติก็แทบนับกันไม่ถูก หรือไม่รู้จักลำดับสูงต่ำในสกุลกำเนิดของตนเอง ที่ควรใกล้ชิดกลมเกลียวกันก็เป็นเหินห่าง ไม่อาจรวมกันติด ไม่มีการติดต่อรวบรวมกันเป็นหมู่เหล่า ต่างครอบครัวต่างตั้งตนเป็นเอกเทศหมด ไม่มีใครรักใคร่นับถือเชิดชูใคร ใครก็ไม่ช่วยเหลือใคร นาน ๆ เข้าก็อาจถึงกลับกลายเป็นอื่นกันไปทั้งสิ้น หรือกลับไปรวมอยู่แต่กับสิ่งใกล้ชิดที่ไม่มีสายสัมพันธ์กัน โดยไม่เคยคำนึงถึงการสืบสกุลรุนชาติ นานหนักเข้าก็อาจทำให้ชาติไทยแตกแยกกันทีละน้อยๆ จนถึงสลายตัวไปในที่สุด นอกจากนั้นในทางปกครองหรือทางศาล ซึ่งเกี่ยวกับจะต้องให้ความคุ้มครอง ความยุติธรรมตลอดจนการลงโทษหรือในกรณีอื่น ๆ ก็เช่นกัน

      ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2455 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุลให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมืองตลอดทั่วพระราชอาณาจักรเพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป