25 ตุลาคม 2473
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม
“ด้วยวันที่ 25 ตุลาคมศกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาแก่บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้เป็นครั้งแรกอันพึงบังเกิดขึ้นในประเทศสยาม สำนักท่านเป็นสำนักศึกษาแห่งหนึ่ง ถ้าท่านสนใจในเรื่องนี้จะแต่งผู้แทนไปประชุมในการนี้แล้ว มหาวิทยาลัยยินดีต้อนรับ และขอเชิญไป ณ ตึกมหาวิทยาลัยด้านถนนสนามม้า เวลา 16.30 นาฬิกา...”
จดหมายเชิญฉบับนี้มหาวิทยาลัยส่งไปยังหน่วยงาน ๑๑ แห่งมีอาทิ สยามโซไซเอตี อัลลิยะอังซ์ ฟรังเซส์ โซซิเอตา อันเตลิเฆียรี กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ สภากาชาดสยาม วชิรพยาบาล มหามงกุฎราชวิทยาลัย ราชบัณฑิตยสภา กรมร่างกฎหมาย และโรงเรียนกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเชิญครั้งนั้นมีหลายกลุ่ม ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทหารเรือ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงพาณิชและคมนาคม กระทรวงวัง กรมราชเลขาธิการ กรมพระคลังข้างที่ เอกอัครราชทูตของประเทศที่ส่งมาประจำในประเทศไทย อาจารย์พิเศษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เก่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และผู้เกื้อหนุนโรงพยาบาลศิริราช พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชชบัณฑิตหรือแพทยศาสตร์บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีขึ้นที่ห้องซึ่งอยู่ชั้นบนด้านสนามม้า (ตึก 1 คณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบัน) ของมหาวิทยาลัย
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำเนิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชดำริในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรเวชศาสตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) เป็นวาระแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473
พระมหากรุณาธิคุณข้อนี้ส่งผลให้เกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในสถาบันอุดมศึกษาของไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ คือ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่สถาบันต่างๆ ในเวลาต่อมา