26 สิงหาคม 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้ “สร้างตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน”

''

 

26 สิงหาคม 2452
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระบรมราชานุญาตให้ “สร้างตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน”

   ตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน ตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระลานฝั่งเหนือ ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง สมัยแรกสร้างเรียก “ตึกแถวริมถนนหน้าพระลานตอนวังกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์” ก่อสร้างพร้อมกับตึกแถวท่าช้างช่วงแรก (ในสมัยแรกสร้างเรียก “ตึกแถวถนนหน้าพระลานตอนท่าพระ”) ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2452 ใช้งบประมาณก่อสร้างเฉลี่ยราคาห้องละ 2,000 บาท เป็นอาคารเครื่องก่อสูง 2 ชั้น 29 คูหา วางยาวตามแนวถนนหน้าพระลานมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ตัวอาคารแบ่งจังหวะด้วยมุข 3 มุข ซึ่งมีลักษณะเด่นที่เสากลมประดับ ชั้นล่างเป็นเสาแบบดอริก (Doric) ชั้นบนเป็นเสาแบบไอโอนิก (Ionic) รองรับแผงหน้าบันรูปสี่เหลี่ยมยอดโค้งแบน มีโถประดับที่ปลายชั้นบนแต่ละคูหามีหน้าต่าง 2 ช่อง เป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมยอดโค้ง ตอนบนกรุแผงระบายอากาศไม้ฉลุบรรจุอยู่ในกรอบซุ้มโค้งใหญ่ 1 กรอบต่อ 1 คูหา ชั้นล่างมีประตูบานเฟี้ยมตอนบนกรุแผงระบายอากาศ คั่นด้วยเสาเก็จเป็นจังหวะยาวตลอดอาคาร

   ด้วยระยะเวลากว่า 100 ปี ส่งผลให้อาคารมีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีเศษปูนแตกหัก กะเทาะร่วงหล่น เป็นที่เสี่ยงอันตรายต่อผู้เช่าและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ดังนั้น ในปี 2552 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ตลอดจนสร้างมาตรฐานและแนวทางในการซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งรูปแบบ วัสดุ และวิธีการที่ถูกต้อง   ตามหลักวิชาการ เพื่อให้อาคารอนุรักษ์อันทรงคุณค่าเหล่านี้  คงอยู่ตลอดไป

  จากแนวคิดการพัฒนาอาคารอนุรักษ์อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่คำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิต รากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมไปถึงบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ส่งผลให้งานอนุรักษ์ตึกแถวริมถนนหน้าพระลานของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้รับรางวัลเกียรติยศด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2554 ประเภท ความสำเร็จที่ควรค่าแก่การจดจำในบางด้านของการบูรณะ (Honourable Mention) จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)