4 ธันวาคม 2532
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศไทย
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของทุกคนจากสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น พื้นที่ป่าไม้มีจำนวนลดลง การปนเปื้อนของขยะพิษในพื้นดินและแหล่งน้ำ การสะสมของขยะพลาสติกในทะเล ปริมาณฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศ รวมถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาซึ่งปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น น้ำท่วมจากขยะอุดตันท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำใช้เน่าเสีย การเจ็บป่วยจากสารเคมีที่ไหลลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ ขยะพลาสติกสะสมในทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นต้น
การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้นเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง และต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จนกระทั่งมีการปฏิรูประบบราชการจึงมีการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
ความเป็นมาของ "วันสิ่งแวดล้อมไทย" นั้น สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ใจความเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศไทย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
"...เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดคิดขึ้น หรือควรพูดว่าได้ข้อมูลมาเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่ง ซึ่งเขาเดือดร้อนกันทั่วโลก คือ ความเดือดร้อนที่ทุกคนจะต้องประสบแต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รู้ แล้วคนที่รู้ บางทีก็โวยวาย ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาก ปัญหานี้ เคยได้พูดถึงที่อื่นมาแล้ว เกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมของโลกซึ่งกำลังวุ่นวายกันมากทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อย ทั้งผู้ที่อยู่ในทวีปยุโรป อเมริกา เอเชียก็พูดกันทั้งนั้น คือปัญหาว่าสิ่งแวดล้อมจะทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไป..."
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันสิ่งแวดล้อมไทย" อันเป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนร่วมกันอนุรักษ์ คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 50 มาตรา 57 มาตรา 58 และมาตรา 72 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
กำหนดให้บุคคลและภาครัฐ ร่วมมือกันในการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมขาติและสภาพแวดล้อมโดยรวมไม่ให้ถูกทำลายหรือเกิดผลกระทบจากฝีมือของมนุษย์ ตลอดจนทำหน้าที่ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศให้มีความยั่งยืน
จึงเห็นได้ว่าการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งตามที่รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2560 ได้เน้นย้ำหน้าที่ของบุคคลและภาครัฐ ที่จะต้องมีการร่วมมือและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน และเมื่อนับจาก พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 32 ปี พระราชอัจฉริยภาพด้านสิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อโลกและประเทศไทยมาโดยตลอด ได้ปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญ ร่วมใจกันอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนสืบไป