5 กุมภาพันธ์ 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตัดถนนเจริญกรุง

''

 

5 กุมภาพันธ์ 2404 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตัดถนนเจริญกรุง

     คนไทยในอดีตสัญจรกันโดยใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางหลัก เส้นทางบกส่วนใหญ่จะเป็นทางเดินเท้า หรือถนนดิน สั้นและแคบ พอถึงฤดูฝนเฉอะแฉะยากต่อการสัญจร รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพระนคร ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้สร้างถนนสำหรับใช้สัญจรด้วยรถม้า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2404 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตัดถนนตั้งแต่คลองคูพระนครชั้นใน ไปเชื่อมกับถนนตรงหรือถนนหัวลำโพงที่คลองผดุงกรุงเกษมสายหนึ่ง และตัดถนนแยกเหนือวัดสามจีน ไปจนตกฝั่งแม่น้ำที่ตำบลดาวคะนองอีกสายหนึ่ง เป็นถนนดินอัด เรียงหินด้านบน ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนใหม่” ชาวตะวันตกเรียกว่า “นิวโรด” (New Road) ชาวจีนเรียกว่า “ซินพะโล้ว” แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตัดถนนจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) เชื่อมกับถนนใหม่ พระราชทานนามถนนทั้งสายนี้ว่า “ถนนเจริญกรุง” ถนนเจริญกรุงเป็นถนนสายแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบตะวันตก โดยได้รับการปรับปรุงในหลายรัชสมัย และกลายเป็นถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจสายหนึ่งของกรุงเทพมหานครตราบจนปัจจุบัน