ศิลปาชีพ
“...ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทย มีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใดคนไทยมีความละเอียดอ่อน และไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้โอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้...”
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๒
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลในการสร้างรากฐานของประชาชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและความมั่นคงให้แก่พสกนิกรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่ต่อไปและสืบต่อจนปัจจุบัน ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันให้ราษฎรได้มีอาชีพที่มั่นคง และมีความอบอุ่นในครอบครัว ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพที่อื่น
ศิลปาชีพ เป็นงานสําคัญที่เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงงานช่วยเหลือประชาชนในชนบทอย่างใกล้ชิด ด้วยความละเอียดและประณีตของพระองค์ ได้ทรงสังเกตเห็นว่า หัตถกรรมพื้นบ้านที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ นั้น ล้วนแต่มีคุณค่าและมีความงดงามซ่อนอยู่ อันเป็นเอกลักษณ์ประจําในแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา ที่ชาวบ้านทําขึ้นใช้เองในการดํารงชีวิต ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล จึงทรงเห็นว่า ถ้าได้มีการส่งเสริมและพัฒนางานด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างจริงจังแล้ว จะเกิดประโยชน์ถึงสองทาง คือ ประการแรก เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และประการที่สอง คือ เป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านโบราณ อันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป
ด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในชนบท โดยการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า ๓๐๐ แห่ง ทุกแห่งล้วนประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี ได้โอบอุ้ม ช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถส่งลูกหลานได้เรียนหนังสือและครอบครัวมีชีวิตที่ดี เป็นการขยายโอกาสและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎร ด้วยผลิตภัณฑ์อันวิจิตรบรรจงที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติตลอดไป