ไทยพระราชนิยม

''''

 

ไทยพระราชนิยม

     เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ เพื่อทรงเจริญทางพระราชไมตรี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริว่า สตรีไทยในขณะนั้นไม่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นชุดไทยหรือชุดประจำชาติเหมือนสตรีชาติอื่นๆ เช่น ส่าหรีของสตรีอินเดีย หรือกิโมโนของสตรีญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงสอบถามผู้รู้และมีประสบการณ์ รวมทั้งการศึกษาจากประวัติศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้เชี่ยวชาญค้นคว้าประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักโบราณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกแบบฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ โดยนำรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทยในอดีตมาผสมผสานกับวิธีการตัดเย็บปัจจุบันได้อย่างลงตัว เพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่และเหมาะสมกับยุคสมัย แต่คงความเป็นไทยได้อย่างกลมกลืนและสง่างาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น จนกระทั่งนิตยสาร "โว้ก" (Vogue) นิตยสารระดับโลก ซึ่งชื่นชมในพระราชจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฉลองพระองค์ชุดไทย จึงได้ส่งช่างภาพมาขอพระราชทานพระฉายาลักษณ์ นำไปเผยแพร่ในนิตยสารโว้ก ฉบับเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ส่งผลให้ผ้าไทยมีชื่อเสียงอย่างมาก และเป็นที่นิยมสวมใส่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

     ต่อมา พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์สมุดภาพ "หญิงไทย" เผยแพร่การแต่งกายชุดไทยพระราชนิยม ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกแบบสร้างสรรค์ จำนวน ๕ แบบ และหลังจากชุดไทยพระราชนิยม ๕ แบบดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอีก ๓ แบบ รวม ๘ แบบ

- ไทยเรือนต้น เป็นชุดที่ใช้ได้หลายโอกาส ใช้เป็นชุดลำลองในงานเลี้ยงที่ไม่เป็นพิธีการ
- ไทยจิตรลดา เป็นชุดไทยสำหรับพิธีกลางวัน ใช้ในงานพิธีการมากกว่าชุดไทยเรือนต้น
- ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน ไทยจักรพรรดิ และไทยดุสิต เป็นชุดสำหรับสตรีสวมสายสะพายในงานพระราชพิธี ที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ
- ไทยจักรี ใช้สำหรับงานกลางคืน งานแต่งงานหรืองานราตรีสโมสรที่ไม่เป็นทางการ และอากาศไม่เย็นมากนัก โดยเป็นชุดไทยห่มสไบ เปิดไหล่ข้างหนึ่ง 
- ไทยศิวาลัย เป็นชุดไทยของสตรีบรรดาศักดิ์ในสมัยก่อน มักใช้ในงานตอนค่ำ งานเลี้ยง งานฉลองสมรส หรืองานพิธีเต็มยศ เหมาะสมสำหรับช่วงอากาศเย็นเพราะมีหลายชั้น

     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เผยแพร่ชุดไทยทั้ง ๘ แบบนี้ ให้สตรีไทยทั่วไปนำไปแต่งกายได้และใช้เป็นแบบมาตรฐาน ซึ่งมีการประยุกต์เป็นชุดไทยอีกหลายแบบ ปรากฏเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และถือเป็นชุดประจำชาติไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน