ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข ทรงห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของประชาชน ให้ได้เข้าถึงโอกาสในการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย โดยให้บริการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคตาและทันตกรรมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2565 มีประชาชนเข้าถึงการรักษารวม 11,026 ราย
วันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จักษุแพทย์อาสา ทันตแพทย์อาสา จิตอาสานักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. และหน่วยงานภาคี จัดโครงการ “ราษฎรสุขใจ พลานามัยสมบูรณ์ แพทย์พระราชทาน” ครั้งที่ 7 ประจำปี 2567 ให้บริการผ่าตัดรักษาโรคตา จำนวน 255 ราย และหน่วยทันตกรรม จำนวน 241 ราย รวมจำนวน 496 ราย โดยเป็นผู้เช่าของสำนักงานทรัพย์สินฯ จำนวน 13 ราย ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 พิธีเปิดโครงการ “ราษฎรสุขใจ พลานามัยสมบูรณ์ แพทย์พระราชทาน” โดย นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และประธานกรรมการโครงการฯ ประธานในพิธี
พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม รองผู้อำนวยการอาวุโสทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และรองประธานกรรมการโครงการฯ ร่วมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจคณะแพทย์ พยาบาล จิตอาสา และผู้ป่วย
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 พิธีปิดโครงการ “ราษฎรสุขใจ พลานามัยสมบูรณ์ แพทย์พระราชทาน” โดยนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ประธานในพิธี และมอบแว่นตาให้แก่ผู้ป่วยผ่าตัดรักษาโรคตา
โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี เดิมชื่อโรงพยาบาลเพชรบุรี ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2491 บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใกล้สถานีรถไฟเพชรบุรี ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชื่อโรงพยาบาล "โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี" เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประกอบกิจคุณูปการ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2532