ทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์ พระราชกรณียกิจ สืบสาน รักษา ต่อยอด ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 

ทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์
พระราชกรณียกิจ สืบสาน รักษา ต่อยอด
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีความสุข โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล จึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในพระราชูปถัมภ์ ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ การสร้างโรงพยาบาลในครั้งนั้นได้อำนวยประโยชน์แก่มหาชนต้องตามพระราชปณิธาน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ ทรงเปิดโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่ง ทรงตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งทรงเยี่ยมราษฎรที่เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล พระราชทานพระราชทรัพย์ สนับสนุนให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิมหาวชิราลงกรณ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 จนถึงปัจจุบัน โดยมูลนิธิมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยของ กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านออร์โธปิดิกส์ และกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการทางแขนขา ทั้งที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และจากหน่วยเคลื่อนที่แขน-ขาเทียม ที่ออกไปให้บริการตามพื้นที่ห่างไกลเป็นประจำทุกปี

     ทรงห่วงใยผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 6 ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ลำปาง อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และลพบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ  ของบ้านพักผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี เป็นเงิน 462 ล้านบาท เพื่อเป็นสถานที่ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบต่อเนื่องด้วยวิธีรังสีรักษา เคมีบำบัด และให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี” การดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ประชาชนในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาล ณ บ้านปลาดุก ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา ปีพุทธศักราช 2545 พร้อมพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” นอกจากนี้ ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานออกตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์ 
โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)