พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เพื่อความสุขของประชาชน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 3 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ทรงมีโอกาสได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ทรงเป็นนักปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และศิลปวิทยาการตะวันตกอย่างรอบด้าน ทำให้ทรงพระปรีชาสามารถทั้งด้านอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และรัฐประศาสโนบายการปกครองสมัยใหม่อย่างรู้เท่าทันตะวันตก ครั้นทรงราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองในยุคที่ลัทธิจักรวรรดินิยมจากประเทศมหาอำนาจในทวีปยุโรปกำลังแผ่อิทธิพลมาสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มที่ จึงทรงกำหนดพระบรมราโชบายอันแยบคายอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาว ทำให้สยามประเทศอยู่ปลอดจากภัยคุกคามด้านความมั่นคง ในขณะเดียวกันก็ทรงเปิดประเทศสู่ความเจริญเติบโตทางการพาณิชย์กับชาติตะวันตกโดยเสรี ทำให้วิทยาการอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหลั่งไหลเข้ามาสู่ราชอาณาจักร
แม้ส่วนพระองค์ก็ไม่โปรดการไว้พระยศ โปรดเสด็จออกทรงรับฎีกาเพื่อจะได้ทรงทราบทุกข์สุขของราษฎรโดยตรง ทรงพระมหากรุณาพระราชทานสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนนานัปการ เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังพระราชปรารภว่า “...ธรรมเนียมผู้ครองแผ่นดินที่เป็นยุติธรรม มิได้ห้ามราษฎรทั้งปวงในการถือศาสนาเป็นที่พึ่งของตัวๆ ในเวลาที่สุดแลกาลเบื้องหน้า ทรงอนุญาตยอมให้คนถือศาสนาตามอัธยาศัย”
พระองค์มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงดูแลรักษาประชาราษฎรเสมือนบิดามารดากรุณาแก่บุตร ดังความตอนหนึ่งในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ว่า
“พระเจ้าแผ่นดินคนทั้งปวงยกย่องตั้งไว้เป็นที่พึ่ง ใครมีทุกข์ร้อนถ้อยความประการใด ก็ย่อมมาร้องให้ช่วย ดังหนึ่งทารกเมื่อมีเหตุแล้วก็มาร้องหาบิดามารดา เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าคนทั้งปวงยกย่องให้เป็นบิดามารดาตัว แล้วก็มีความกรุณาแก่คนทั้งปวงดังหนึ่งบิดามารดากรุณาแก่บุตรจริงๆ โดยสุจริต”
เซอร์จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษผู้เข้ามาทำสัญญาทางพระราชไมตรีในสมัยนั้น สรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยว่า
“ทรงเป็นตัวอย่างแห่งพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถในทางอักษรศาสตร์และปราชญศาสตร์ต่างๆ ของชาวตะวันตกทั้งมวล แต่เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงพระปรีชาเชิงวิชาการสมัยใหม่อย่างเฉียบแหลมจนคนอื่นๆ ตามพระองค์ไม่ทัน จึงมีผู้เข้าใจในโครงการและพัฒนาการตลอดจนทางรัฐประศาสน์ของพระองค์ไม่ถึง ฉะนั้น ขณะที่กรุงสยามเริ่มเปิดประตูค้าขายกับชาวต่างประเทศนั้นเองจึงเกิดอุปสรรคขึ้นบางประการ แต่ถึงเช่นนั้นก็ดี จะทรงท้อถอยพระราชหฤทัยก็หามิได้ คงดำเนินการก้าวหน้าแก่ประเทศสยามสืบต่อมาเต็มพระสติปรีชาญาณ...”
ที่มาข้อมูล : หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ 6 เมษายน 2561
สืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี”