พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อความสุขของประชาชน

     

พระราชปณิธานแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เพื่อความสุขของประชาชน

 

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับการอบรมบ่มเพาะพระปรีชาญาณสืบมาโดยตรงจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงทรงทราบการณ์อันกว้างไกลถึงมูลเหตุภายในคือความล้าสมัยของประเพณีการปกครองแบบเก่าที่สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับมูลเหตุภายนอกจากการเปิดประเทศ ประกอบกับสัญญาณภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม จึงทรงพระวิริยอุตสาหะอย่างแรงกล้าในการปฏิรูปการปกครองของประเทศสยามในทุกด้าน เพื่อเอกราชของประเทศและความผาสุกของประชาชนเป็นสำคัญ

     พระองค์ทรงจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง ทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล ทรงยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการเลิกระบบทาสไพร่ พระราชทานโอกาสทางการศึกษา อาชีพ และสิทธิเสรีภาพสมัยใหม่ พระราชทานระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการอันเป็นมูลฐานความเจริญในทุกด้าน


     พระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 มีมากประมาณพ้นจะพรรณนา สะท้อนถึงพระราชปณิธานที่ทรงแสดงไว้ให้ปรากฏว่า “...เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุด ที่จะให้กรุงสยามเป็นประเทศอันหนึ่งซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ”

     หลักพระราชปฏิบัติที่ทรงใช้เป็นแบบในการปกครองคือทรงเน้นความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ ด้วยการพระราชทานความเป็นธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่า สมดังพระราชดำรัสตอบคำถวายพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ความว่า

     “...มีความตั้งใจที่จะจัดการปกครองให้ประกอบด้วยหลักฐานมั่นคง ดำรงอิสรภาพของแผ่นดินไว้ยิ่งขึ้น ทั้งจะบำรุงอาณาประชาชน ให้มีที่ทางประกอบการแสวงผลประโยชน์เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงเป็นข้อสำคัญซึ่งทำให้เกิดมีความสามัคคีต่อกันตั้งแต่ในพระบรมราชวงศ์ลงไปจนถึงอาณาประชาราษฎร์ ให้เกิดสมัครสโมสรไว้วางใจกัน ให้อาณาประชาชนเชื่อมั่นในความปกครองว่าจะดำเนินไปในทางซึ่งจะให้เจริญสุขสมบัติ จะตัดการซึ่งไม่เป็นธรรมแลทางที่เดือดร้อนให้สิ้นไป ให้ประชาชนทั้งปวงรู้สึกใจว่าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกันโดยสนิท มิได้เลือกกำเนิดแลศาสนา ให้มหาชนรู้สึกรักชาติแลประเทศของตน ประกอบการแสวงผลให้เจริญโภคทรัพย์ตามควรแก่ความสามารถ...”

     ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันมุ่งหวังความสุขของประชาราษฎรเป็นสำคัญ บันดาลให้บังเกิดพระราชกรณียกิจมหาศาลที่พระราชทานเป็นประโยชน์ติดแผ่นดินตราบเท่าทุกวันนี้ สมกับที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน อันเป็นผลมาจากพระราชปณิธาน ดังปรากฏในกระแสพระราชดำรัสว่า “...ความประสงค์ของเรามีอย่างเดียว แต่จะให้ประชาราษฎรของเราเป็นสุขทั่วหน้า”
                


ที่มาข้อมูล : หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ 6 เมษายน 2561
สืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี”