โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

 

วันที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔


     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างแหล่งน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคตามที่ราษฎรได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อให้มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตร ส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น


การดำเนินงาน
     หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน ๕ แห่ง ดังนี้
๑. อ่างเก็บน้ำบ้านพรุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ ๔ ตำบลยางหัก เป็นเขื่อนดิน หลังคันกว้าง ๕ เมตร ยาว ๓๘๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร พื้นที่รับน้ำฝน ๙ ตารางกิโลเมตร ความจุ ๕๘๕,๒๘๐ ลูกบาศก์เมตร 
๒. อ่างเก็บน้ำห้วยพรุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ ๔ ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นเขื่อนดิน หลังคันกว้าง ๕ เมตร ยาว ๓๒๖ เมตร สูง ๑๓ เมตร พื้นที่รับน้ำฝน ๑๐ ตารางกิโลเมตร ความจุ ๒๗๐,๗๕๐ ลูกบาศก์เมตร 
๓. อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ ๓ ตำบลยางหัก เป็นเขื่อนดิน หลังคันกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๘๐ เมตร สูง ๑๐ เมตร พื้นที่รับน้ำฝน ๗ ตารางกิโลเมตร ความจุ ๖๑๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร 
๔. อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ ๕ ตำบลยางหัก เป็นเขื่อนดิน หลังคันกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๗๐ เมตร สูง ๑๗ เมตร พื้นที่รับน้ำฝน ๕๖.๙๗ ตารางกิโลเมตร ความจุ ๕๙๘,๒๓๑ ลูกบาศก์เมตร 
๕. อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ ๔ ตำบลยางหัก เป็นเขื่อนดิน หลังคันกว้าง ๖ เมตร ยาว ๒๔๐ เมตร สูง ๒๑ เมตร พื้นที่รับน้ำฝน ๘.๒๕ ตารางกิโลเมตร ความจุ ๑,๐๖๔,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร 


ประโยชน์ที่ได้รับ
     ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง ๕ แห่ง มีสภาพสมบูรณ์ สามารถช่วยเหลือราษฎรตำบลยางหักได้อย่างทั่วถึง โดยอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งจะมีกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ช่วยกันดูแลรักษาสภาพพื้นที่อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำร่วมกับโครงการชลประทานราชบุรี และมีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงก่อนและหลังฤดูกาลเพาะปลูก หลังจากก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง ๕ แห่ง แล้วเสร็จ ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นและมีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๖,๐๐๐ ไร่ มีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วมโครงการกว่า ๗๐๐ ราย ร่วมกันบริหารจัดการและดูแล บำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำ ยังผลให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรมตลอดปี

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์ 
โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)