โครงการเกษตรวิชญา (พัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ) ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

 

โครงการเกษตรวิชญา (พัฒนาพื้นที่สวนบ้านกองแหะ)
ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่


     วันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจ และวางแผนการใช้ที่ดิน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้ได้แนวทางหรือวิธีการที่เหมาะสมต่อการเกษตร ส่วนจะพัฒนาอย่างไร หรือปลูกพืชชนิดใด ควรพิจารณาหลังจากได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว

     เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


การดำเนินงาน
     ปัจจุบันดำเนินการเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรที่มีเหมาะกับสภาพภูมิสังคม ในรูปแบบคลินิกเกษตร มีการกำหนดแผนผังการใช้ที่ดินพระราชทานจำนวน 1,350 ไร่ ออกเป็น 5 ส่วน คือ


ส่วนที่ 1 : พื้นที่ทรงงาน มีเนื้อที่ 32 ไร่ หรือร้อยละ 2.37 ของพื้นที่ทั้งหมดอยู่บริเวณส่วนล่าง ด้านตะวันออกของพื้นที่โครงการ สภาพพื้นที่อยู่บนเนินสูง ซึ่งเป็นบริเวณที่มองเห็นสภาพภูมิประเทศโดยรอบของพื้นที่โครงการได้ชัดเจน


ส่วนที่ 2 : พื้นที่ส่วนราชการ มีเนื้อที่ 138 ไร่ หรือร้อยละ 10.22 ของพื้นที่โครงการ ตั้งอยู่ส่วนเหนือด้านตะวันออกของพื้นที่ สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ลาดลูกคลื่นลอนชัน ความลาดชันร้อยละ 8-30 ดินส่วนใหญ่เป็นดินลึก ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีการใช้ที่ดินด้านการเกษตร และบางส่วนเป็นพื้นที่รกร้าง


ส่วนที่ 3 : พื้นที่พัฒนาการเกษตร มีเนื้อที่ 139 ไร่ หรือร้อยละ 10.30 ของพื้นที่โครงการอยู่ทางส่วนเหนือ ด้านตะวันตกของพื้นที่ สภาพพื้นที่ลาดชันเล็กน้อยถึงปานกลาง ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินลึก การระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ พื้นที่ติดกับหมู่บ้านกองแหะ มีการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมอาชีพพัฒนาการผลิตที่พึ่งตนเองได้ วางผังแบ่งแปลงจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 60 ราย รายละ 1 ไร่ รวม 60 ไร่


ส่วนที่ 4 : พื้นที่เขตวนเกษตร/ธนาคารอาหารชุมชน มีเนื้อที่ 123 ไร่ หรือร้อยละ 9.11 ของพื้นที่ สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงเนินเขา ดินเป็นดินลึกความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สภาพการใช้ที่ดินปัจจุบันมีไม้ใหญ่อยู่บ้าง ควรสงวนไว้ห้ามบุกรุกทำลาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรม ควรให้มีการพัฒนาฟื้นฟูเป็นแหล่งอาหารชุมชน


ส่วนที่ 5 : พื้นที่ป่าไม้ มีเนื้อที่ 918 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 68 ของพื้นที่โครงการ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ที่ไม่ผลัดใบประเภทป่าดิบเขา เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ป่าตามธรรมชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศที่ยั่งยืนตลอดไป ส่วนบริเวณพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้มีการปลูกป่าทดแทน


     โครงการเกษตรวิชญา ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนฝึกอบรมและพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสม ผืนป่าได้รับการฟื้นฟู ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพของราษฎรในพื้นที่ มีการจัดหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ราษฎรในพื้นที่มีการทำไร่เลื่อนลอยก็ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชตามหลัก "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" โดยมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟ มีการเพาะชำกล้าไม้โตเร็ว จำนวน 50,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกขยายผลใช้ประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือน ปลูกไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว พืชเมืองหนาว จำนวน 120 ไร่ เพื่อให้ราษฎรมีพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์ เป็นถ่านฟืนหุงต้มอาหาร และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมราษฎรผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งจัดฝึกอบรมหลักสูตร "การผลิตและใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ" แก่ราษฎร มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การทำปุ๋ยหมักจากสาร พด. มีการส่งเสริมการสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่ากว่า 101 ฝาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมดำเนินงานเชิงบูรณาการ เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่และวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดินทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 3 แผนงานหลักคือ
1. แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
2. แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ
3. แผนงานพัฒนาพื้นที่และถ่ายทอดเทคโนโลยี


ประโยชน์ที่ได้รับ
     ทำให้ราษฎรเลิกทำไร่เลื่อนลอยและได้เรียนรู้การผลิตเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพรในท้องถิ่น ทำให้ปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติลดลง ราษฎรเกิดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือทศมราชา พระเมตตาสู่ประชาราษฎร์ 
โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)