พระมารดาแห่งไหมไทย

 

-

 

-

 

พระมารดาแห่งไหมไทย


     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้น้อยและประสบปัญหาความยากจน จึงทรงตระหนักและทรงให้ความสำคัญในการสร้างอาชีพเสริม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่พสกนิกร สนับสนุนอาชีพทางด้านหัตถกรรมไหมลวดลายต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ จนเป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางและเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมไทยในทุกโอกาส เพื่อทรงเป็นแบบอย่าง เนื่องด้วยมีพระราชนิยมเรื่องการใช้ผ้าไทยมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และทรงงานด้านหม่อนไหมด้วยพระวิริยอุตสาหะมาโดยตลอด และมีพระราชดำริว่า สมควรจะมีหน่วยงานหลักที่จะรับผิดชอบ ดูแลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รักษาพันธุ์ไหมพื้นเมืองซึ่งมีเอกลักษณ์ของไทย การย้อมสีธรรมชาติ ตลอดจนสนับสนุนการทอผ้าไหมไว้อย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ได้มีอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างตระหนักรับรู้ได้ถึงความรัก ความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกร และบังเกิดเป็นความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิความเป็นไทยจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและนานาอารยประเทศ จนกระทั่งในปี ๒๕๔๕ คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ (International Sericultural Commission: ISC) ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ (Louis Pasteur Awards) แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ที่ศึกษาพัฒนาและทำคุณประโยชน์ยิ่งต่อวงการหม่อนไหมไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมกับจัดงานกาลาดินเนอร์ถวาย ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

     ต่อมาในปี ๒๕๕๐ ได้พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ๔ ชนิด ได้แก่ ตรานกยูงพระราชทานสีทอง (Royal Thai Silk) สีเงิน (Classic Thai Silk) สีน้ำเงิน (Thai Silk) และสีเขียว (Thai Silk Blend) ซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในต่างประเทศไปแล้วรวม ๓๕ ประเทศ 
เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมไทย ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และช่วยให้ราษฎรมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้รวมหน่วยงานที่มีภารกิจด้านหม่อนไหมจากกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน และขอพระราชทานชื่อว่า "สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" (สมมช.) เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและบริหารจัดการด้านหม่อนไหมให้เป็นไปอย่างครบวงจร

     ต่อมาเพื่อให้งานหม่อนไหมของชาติมีความเป็นเอกภาพ ขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหมอย่างเป็นระบบครบวงจรยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สนองพระราชดำริจัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกรม เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นกรมหม่อนไหม ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

     ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศไทย และพระเกียรติคุณอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการหม่อนไหมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันถวายพระสมัญญาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ในฐานะ "พระมารดาแห่งไหมไทย" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๕